วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ผู้ชาย กับวิกฤตวัยกลางคน

ผู้ชาย กับวิกฤตวัยกลางคน



แจ็ค (นามสมมติ) มีทุกอย่างในชีวิตที่เพียบพร้อม เขาอายุ 36 ปี เป็นประธานบริษัทด้านซอฟตแวร์และไอที ซึ่งเขาเป็นเจ้าของและประสบความสำเร็จ เขามีภรรยาที่มาจากตระกูลดี มีฐานะ พร้อมด้วยความงามและหน้าตาทางสังคม และมีลูกที่น่ารักด้วยกันสองคน อาศัยอยู่ด้วยกันในบ้านหลังใหญ่ ราคาเกือบสิบล้าน ในโครงการบ้านหรู ทุกนิยามที่บ่งบอกถึงความสำเร็จ เขามีพร้อมหมด แต่แล้ววันหนึ่ง ขณะที่เขาพักผ่อนอยู่ที่โรงแรมห้าดาว เขากลับกุมศีรษะพร้อมถามตัวเองว่า “ทำไมตัวเองถึงรู้สึกว่างเปล่าเพียงนี้”

            

นี่คือจุดเริ่มต้นวิกฤตวัยกลางคนของแจ็ค เขาเริ่มรู้สึกว่าตัวเองห่างเหินจากภรรยาและเหมือนคนแปลกหน้าในบ้านของตัวเอง ความต้องการขยายกิจการและการสรรหาเงินมากขึ้น กลับกลายเป็นเรื่องไร้ความหมายสำหรับแจ็ค “ทุกอย่างในตอนนี้ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของผม ผมไม่พึงพอใจในชีวิตของตัวเอง รู้สึกเหมือนทุกสิ่งว่างเปล่าไร้ความหมาย” แจ็คกล่าว

            ผู้ชายหลาย ๆ คนเริ่มมีภาวะซึมเศร้าเมื่อชีวิตก้าวสู่วัยกลางคน บางคนหาทางออกด้วยการนำเงินออมระยะยาวมาถลุงเล่น เช่น ซื้อรถยนต์ อุปกรณ์ไอทีราคาแพง ศัลยกรรม หรือมีพฤติกรรมเหมือนสมัยวัยรุ่นอีกครั้ง เช่น เที่ยวกลางคืน หรือหาคู่ควงที่อ่อนวัยกว่ามาก ไม่ว่าอาการของภาวะนี้จะแสดงออกด้วยการโอ้อวดตนเองหรือวิธีใดก็ตาม สิ่งที่แน่นอนคือทำให้ชีวิตของผู้ชายวัยกลางคนนั้นต้องปั่นป่วน

            จากการศึกษาพบว่าวัยกลางคนเป็นช่วงอายุที่คนมักอยู่ในภาวะซึมเศร้า โดยเริ่มที่ช่วงอายุ 32-55 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่สภาพร่างกายของผู้ชายเริ่มถดถอยลงเช่นกัน โดยส่วนใหญ่ผู้ชายมักจะเกิดความกลัวอย่างฉับพลันทำนองว่า “แย่แล้ว ชีวิตผ่านไปครึ่งทาง ฉังทำทุกอย่างที่อยากทำไม่สำเร็จเลย” บางคนอาจคิดว่าชีวิตล่วงเลยไปแล้วฉันจะมีเวลาเพียงพอไหม ถ้าไม่ทำตอนนี้คงหมดโอกาส สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องของความกลัวแทบทั้งสิ้น

            ผู้หญิงวัยนี้มีความเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างจากผู้ชาย แต่ผู้หญิงมักมีกลุ่มเพื่อนหรือกลุ่มสังคมคอยดูแลจิตใจซึ่งกันและกัน วัยกลางคนของผู้หญิงหลายคนจึงเป็นเหมือนวัยที่พวกเธอเริ่มเป็นอิสระจากครอบครัวและเป็นจุดเริ่มจต้นของสิ่งท้าทายใหม่ ๆ ในขณะที่ผู้ชายมักท้อแท้และหมดกำลังใจได้ง่าย พวกเขาเริ่มตระหนักถึงแง่มุมที่อ่อนแอหรือจุดด้อยของตน ความไม่แน่นอนของชีวิตคือความจริงอีกประการที่เราทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงและมักปรากฏให้เห็นชัดเจนในชีวิตช่วงนี้ เช่น การเสียชีวิตของญาติ การเปลี่ยนงาน การตกงาน ชีวิตสมรสหรือคู่ครองล้มเหลว และชีวิตช่วงนี้มักมีโรคภัยไข้เจ็บร้ายแรงต่าง ๆ เกิดขึ้น

            ฮอร์โมนมีอิทธิพลต่อผู้ขายเช่นเดียวกับที่ทำให้ผู้หญิงต้องประสบปัญหาจากวัยหมดประจำเดือนหรือที่เราเรียกกันว่า “วัยทอง” ซึ่งเป็นคำที่เรามักใช้อธิบายพฤติกรรมที่ไม่อยู่กับร่องกับรอยในวัยนี้ของผู้ชาย เพราะระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนของผู้ชายจะค่อย ๆ ลดลงร้อยละหนึ่งหรือสองต่อปี เป็นผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแอลง ความต้องการทางเพศลดลง ไขมันสะสมในร่างกายมากขึ้น หงุดหงิดง่าย และซึมเศร้าง่าย

            นายแพทย์โรเบิร์ต แม็คลาชแลน ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพชายในออสเตรเลีย กล่าวแย้งเรื่องวัยทองในเพศชายไว้ว่า “วัยหมดฮอร์โมนในผู้ชายเป็นคำพูดที่ไร้สาระ เป็นคำที่เกี่ยวข้องกับเรืองการตลาดเป็นส่วนใหญ่เสียมากกว่า ในความเป็นจริง ผู้ชายไม่มีวัยหมดฮอร์โมนเหมือนผู้หญิง แต่ปัญหาสุขภาพอย่างเช่นโรคอ้วน เบาหวาน อาจทำให้ฮอร์โมนลดลงต่ำรวดเร็วกว่าปกติได้ การฉีดเทสโทสเทอโรน จึงเป็นการช่วยปลอบใจให้ชายกลุ่มนี้เบาใจหรือสบายใจขึ้น แต่ไม่เหมาะที่จะใช้อธิบายอาการผิดปกติของวัยกลางคน ซึ่งมีสาเหตุที่ซับซ้อนกว่านี้ได้ “

            แจ็ค อธิบายสาเหตุปัญหาของตัวเองว่า “ ปัญหาของผมเกิดจากความคลาดเคลื่อนในการทำความเข้าใจพื้นฐานที่แท้จริงของตัวเอง คุณอาจไม่ค่อยเข้าใจ แต่พอถึงจุดหนึ่ง คุณอยากตะโกนบอกว่า ถึงเวลาใส่ใจฉันบ้าง เหมือนที่ผมกำลังรู้สึกตอนนี้ “

            ในความเป็นจริงเรื่องวิกฤตของชีวิตสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยยี่สิบตอนกลาง หรือวัยเกษียณ ผู้หญิงเองก็มีวิกฤตที่ต้องผ่านหรือประเมินบทบาทตัวเองเช่นกัน เช่น การคลอดลูก การแต่งงาน หรือการแยกครอบครัวหลังแต่งงาน

            งานวิจัยระบุว่า จำนวนเงินมากน้อยไม่ใช่สิ่งสำคัญ ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคู่รักคือสิ่งที่สำคัญกว่า ในการมีชีวิต หากไม่มีข้อมูลวิจัยยืนยัน หลายคนคงไม่อยากสนใจเรื่องความสัมพันธ์ แต่กลับพุ่งเป้าหมายชีวิตไปยังความมั่งคั่ง ตามธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์

            ผู้ชายทั่วไปราวสองในสาม มีบุคลิกเป็นผู้ที่ใช้ตรรกะในชีวิต คนกลุ่มนี้มักยึดมั่นกับแนวความคิดตามประเพณีที่ว่า เป้าหมายสำคัญในชิวิตคือความสำเร็จด้านอาชีพการงาน โดยมักไม่คำนึงถึงความสมบูรณ์พร้อมของจิตใจ หากชายกลุ่มนี้สามารถบรรลุเป้าหมายชีวิตที่เขาวางไว้ตั้งแต่วัยรุ่น เมื่อเขาถึงวัยกลางคน พวกเขาจะรู้สึกว่าชีวิตไม่มีความสุข และชีวิตที่เหลืออยู่เหมือนจะไร้เป้าหมาย

            ในทางการแพทย์ ให้ความเห็นว่าปัญหาสภาพจิตใจแปรปรวนในวิกฤตวัยกลางคนควรรักษาด้วยยาต้านซึมเศร้า ขณะที่ผู้ชายหลายคนเหมาะกับวิธีให้คำปรึกษาเพื่อเสริมสร้างความตระหนักในปัญหาและความต้องการที่แท้จริงในใจตน ตลอดจนการหาทางออกวิธีอื่นที่เหมาะสม

            แจ็ค กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนงานไม่ทำให้ความสัมพันธ์ของเขากับภรรยาดีขึ้น หลาย ๆ ครั้งที่เขามีปากเสียงถึงขึ้นที่ว่า เขาต้องไปหาผู้หญิงคนใหม่ที่อายุน้อยกว่า และวางแผนให้เขามาช่วยงานเพื่อความสัมพันธ์ที่แนบแน่นยิ่งขึ้น แต่ท้ายที่สุดเมื่อเขานึกถึงภรรยาและลูก ประกอบกับคำแนะนำที่ดีจากเพื่อน เขาจึงเปลี่ยนความคิด และหันหน้าเข้าหาภรรยาเพื่อร่วมกันหาทางแก้ปัญหา และถึงแม้หนทางในการแก้ปัญหาของเขากับภรรยายังอยู่ในระยะฟักตัว แต่อย่างน้อยเขาก็ได้ตระหนักถึงสิ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิตและได้ค้นพบที่เขาต้องการอย่างแท้จริง เขาสอบเรียนต่อ และมีความสุขที่ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตของเขาให้กับคนอื่นที่กำลังประสบปัญหาเช่นที่เขาเคยประสบมา “ ผมรู้สึกโชคดีที่มีโอกาสได้ค้นพบคำตอบที่แท้จริงในใจของตัวเอง ในวัยกลางคน” เขากล่าวในท้ายที่สุด

จากการค้นคว้าและพูดคุยทำให้สรุป 10 สัญญาณของวิกฤตวัยกลางคนได้ดังนี้

  1. มีพฤติกรรมท้าทายความตาย คือแสวงหากิจกรรมเสี่ยงความตายทุกชนิด เช่น กระโดนบันจี้ อยากแข่งรถ ล่าสัตว์ป่า พร้อมยืนยันปรัชญาว่า “ชีวิตคนเราสั้นนัก”
  2. มือเติบกับของราคาแพง คือใช้จ่ายกับสิ่งที่คิดว่าสนองความต้องการของตัวเองเช่น ซื้อรถ บ้าน หุ้น หรือทีวีจอยักษ์ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกสบายใจ
  3. ทำตัวเจ้าชู้ เพื่อตอบตัวเองว่า ฉันยังมีเสน่ห์อยู่
  4. บ้าออกกำลังกาย เขาอาจเข้าฟิสเนตสัปดาห์ละห้าวัน และส่องกระจกเป็นประจำเพื่อให้ยังรู้สึกดีกับรูปร่างตัวเอง
  5. แต่งตัวจัด เพื่อให้เขาดุเท่อยู่เสมอ จะได้เตะตาคนทั่วไปที่พบเห็น
  6. เปลี่ยนงานอย่างฉับพลัน เพื่อปรับกิจวัตรที่เขาคิดว่าสุดแสนจะน่าเบื่อ
  7. กลับไปทำตัวเหมือนวัยรุ่น เขาอาจเที่ยวกลางคืน ดื่มแอลกอฮอล์จัด ขับรถเล่นชมวิว หรือกินอาหารขยะ เหมือนสมัยที่เขาทำตอนวัยรุ่น
  8. โหยหาความรักในอดีต เขาอาจคอมเม้นต์หรือโพสต์เฟซบุคไปยังหน้าเพจของคนรักเก่า หรือชวนคนรักเก่าออกมาทานข้าว ดูหนัง เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นอีกครั้ง หรือหลีกหนีความจำเจของความรู้สึก ณ ปัจจุบัน
  9. ขาดความรับผิดชอบ เขาอาจทิ้งงานทุกอย่าง แล้วนอนดูทีวีตั้งแต่ หกโมงเช้าถึง เที่ยงคืน
  10. หวนรำลึกอดีตมากผิดปกติ  เพื่อเป็นการปลอบใจตัวเอง ไม่ให้คิดถึงวินาทีที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ไม่ว่าใครกำลังเผชิญภาวะวิกฤตวัยกลางคน สิ่งที่สำคัญคือ การมีสติและรู้คิด การอยู่คนเดียว หรือเก็บตัวไม่ส่งผลดีในระยะยาว การพูดคุยพบปะผู้คน หรือเพื่อนฝูง จะช่วยกระตุ้นความรู้คิดและสติ เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตได้ ... 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น